พิธีดอย : ไสยศาสตร์ปัดรังควานของชองชาวปักษ์ใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ พิธีดอย : ไสยศาสตร์ปัดรังควานของชองชาวปักษ์ใต้

พิธีดอย : ไสยศาสตร์ปัดรังควานของชองชาวปักษ์ใต้

พิธีดอย : ไสยศาสตร์ปัดรังควานของชองชาวปักษ์ใต้

          ‘ความตาย’ คือการตัดสัมพันธ์กับผู้คนในโลกได้อย่างถาวรที่สุด แม้ในห้วงความรู้สึกของครอบครัวการตายจะถือเป็นเรื่องโศกเศร้าที่ไม่มีใครปรารถนา ทว่าในห้วงของความเชื่อแล้วคนตายคือวิญญาณร้ายที่ให้ทั้งคุณและโทษแก่ผู้ที่ยังมีลมหายใจ ดังนั้น ‘การปัดรังควาน’ หรือที่เรียกว่า ‘พิธีดอย’ จึงถือเป็นอีกพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจากความกลัวในโลกหลังความตาย และเชื่อว่าการทำพิธีดังกล่าวจะทำให้ครอบครัวผู้สูญเสียใช้ชีวิตต่อไปอย่างสงบสุข

พิธีดอยคืออะไร?

          พิธีดอย ถือเป็นพิธีปัดรังควานให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตของชาวใต้มาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากสมัยก่อนมีความเชื่อว่าวิญญาณสามารถกลับมารังควานผู้ที่มีชีวิตอยู่ให้เกิดความเดือดร้อนได้ โดยภายในพิธีผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์ หรือเรียกว่า ‘หมอดอย’ จะทำพิธีขับไล่วิญญาณชั่วร้ายออกจากตัวศพ โดยหากเป็นการตายตามปกติวิสัยหมอดอยจะทำการปะพรมน้ำมนต์ลงไปบนตัวศพและทำพิธีอย่างไม่เคร่งครัด เนื่องจากเชื่อว่าวิญญาณจำพวกนี้ไม่มีฤทธิ์หรือความร้ายกาจอันใด แต่หากเป็นการตายที่ผิดปกติวิสัย เช่น อุบัติเหตุ หรือตายท้องกลม (ตายพราย) หมอดอยจะใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาทั้งหมดขจัดเสนียดจัญไรอย่างเคร่งครัด อีกทั้งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื่อว่าผู้ที่ตายอย่างผิดปกติจะกลายเป็นวิญญาณร้ายตามหลอกหลอน
ซึ่งเป็นอันตรายต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและเป็นอันตรายต่อผู้ทำพิธีด้วยเช่นกัน

การทำพิธีดอยและความเชื่อทางศาสนา

          พิธีดอยเป็นพิธีปัดรังควานซึ่งแฝงคติธรรมทางพุทธศาสนาเอาไว้ เตือนใจเหล่าญาติมิตรหรือผู้ร่วมพิธีไม่ให้ประมาท หรืออีกนัยคือสอนให้รู้จักธรรมชาติของความตายที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยในขั้นตอนการทำพิธี
จะเริ่มตั้งแต่การ ‘มนต์น้ำ’ เพื่อใช้ปะพรมศพและปะพรมบริเวณบ้าน ซึ่งบทสวดจะมีการอัญเชิญพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์เพื่อเป็นที่พึ่งไปตลอดการทำพิธี ไปจนถึงพิธีกรรมสุดท้ายคือการท่องบทสวดเพื่อสั่งหรือขู่ผีร้ายในตัวศพให้ออกไป โดยหมอดอยจะกล่าวคาถาไปด้วยว่า

ที่มา สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 5. (2542). ดอย : พิธีกรรม. (น. 2367).
มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ

 

          ในคำกล่าวข้างต้นคือการปราบไม่ให้ผีออกมาก่อความเดือดร้อนรำคาญ โดยให้ธาตุในร่างกายทั้งสี่กลับคืนสู่สภาพเดิม ไม่ให้ออกไปไหนโดยเด็ดขาด ซึ่งขณะทำการมัดศพหมอดอยจะกล่าวคำว่า “นะโมพุทธายะ” แปลความได้ว่า “ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า” ซึ่งเป็นคาถาที่มีอำนาจป้องกันภูตผีและภยันตรายทั้งปวงตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์

ความเชื่อการปฏิบัติของแต่ละจังหวัดในภาคใต้

          พิธีดอยมีการประกอบพิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่โดยมากจะประกอบพิธีในทำนองเดียวกันคือทำพิธีดอยตามความเชื่อและนำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามปกติ หากแต่ในบางพื้นที่จะมีการทำพิธีแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย ตามที่ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา (2542, น. 214-215) กล่าวถึงการทำพิธีดอยในจังหวัดสงขลาเอาไว้ว่า ก่อนการเริ่มต้นทำพิธีดอยญาติจะต้องจุดเทียนขี้ผึ้งหนักหนึ่งบาท มีไส้ 7 เส้น ตั้งไว้จนเทียนหมดเล่มจึงจะเชื่อว่าตายสนิท จากนั้นจึงไปเชิญผู้มีความรู้ทางไสยศาสตร์มาเสกทำน้ำมนต์เพื่อปะพรมที่ศพ ป้องกันมิให้วิญญาณเป็นผีดุร้ายและกลับมาอาละวาดหลอกหลอน

          นอกจากนี้บางพื้นที่ยังใช้ลูกพันธ์ หรือลูกคันธ์สำหรับอาบน้ำมาวางไว้ข้างศพเพื่อเป็นปริศนาธรรมว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์เรานั้นไม่ว่าช้าเร็วทุกคนย่อมมีจุดจบเดียวกันนั่นคือความตาย ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือสูงศักดิ์ต่ำศักดิ์อย่างไร แต่ท้ายที่สุดแล้วร่างกายของเราจะเหลือเพียงร่างที่เน่าเปื่อย คงไว้เพียงกรรมดีและกรรมชั่วที่ติดตัวไปในภพภูมิหน้า ตามที่หนังสือเฉลยปริศนาธรรมของนายเลียบ ประพันธ์เป็นคำกลอนเอาไว้ว่า

ที่มา ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้. (2564). การตาย.
สืบค้น 10 ธันวาคม 2566 https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/b12980ad

 

          แม้ในปัจจุบันจะไม่สามารถหาชมพิธีดอยได้แล้ว แต่พิธีกรรมดังกล่าวยังคงทิ้งทวนสัจธรรมของชีวิตเอาไว้อย่างเรียบง่าย นั่นคือการสอนให้เราตระหนักถึงความธรรมดาของชีวิตที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเงาติดตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง หากสิ่งที่ควรพึงระลึกไว้เสมอคือการไม่ประมาทและการตั้งมั่นสั่งสมความดีเอาไว้ เพราะสิ่งที่ติดตัวไปในภพภูมิหน้ามิใช่เงินทองหรือชื่อเสียง หากแต่เป็นบุญกรรมที่เราสร้างไว้ครั้งยังมีลมหายใจ

 

ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้. (2564). การตาย. สืบค้น 10 ธันวาคม, 2566 จาก https://clib.psu.ac.th/
southerninfo/content/1/b12980ad

ดำรงศ์พันธ์ ใจห้าววีระพงศ์. (2562). การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ “คนเผาผี” ภายใต้บริบทความทันสมัยในพื้นที่ภาคใต้. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ปรีชา นุ่นสุข. ดอย : พิธีกรรม. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 5. (2542). หน้า 2366-2367

พิธีดอย. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา.
กรมศิลปากร.

แชร์ 116 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้